ลิ่วล้อ พท. โวย รธน.นิรโทษฯ 'คสช.' จวก กรธ.อย่าริอ่านคิดแทน ปชช.
"วัฒนา" ค้านบัญญัติการนิรโทษกรรม คสช.ในร่าง รธน. ลั่นหาก รบ.สุจริตจริง ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว ด้าน "คณิน" จวก กรธ.อย่าคิดแทน ปชช.
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ตอบคำถามถึงความจำเป็นที่ต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมให้กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า "คงต้องมีการกำหนดไว้เหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะเป็นสูตรที่ต้องมีไว้ในรัฐธรรมนูญ" จึงขอให้ความเห็นว่า เมื่อ คสช. ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้ มีการนิรโทษกรรมการยึดอำนาจไว้ในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งหนึ่งแล้ว ดังนั้นการนิรโทษกรรมที่นายมีชัยจะเขียนไว้อีกในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป คือการนิรโทษกรรมให้กับบรรดาการกระทำทั้งหลายของ คสช. และรัฐบาลที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ หรือถ้าจะพูดให้ชัดคือนิรโทษกรรมให้กับการบริหารประเทศภายหลังจากการยึดอำนาจ โดยไม่ว่า คสช. หรือรัฐบาลจะกระทำผิดกฎหมายหรือใช้อำนาจในทางมิชอบใดๆ ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรมอีก เพราะหากรัฐบาล คสช.สุจริตก็ย่อมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่หากยอมให้มีการนิรโทษกรรม เท่ากับหนีการตรวจสอบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับการเมืองไทย
ด้าน นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงว่า "รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาออกแบบกลไกไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ดังนั้น กรธ.ชุดนี้จึงต้องออกแบบการเมืองใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันอย่างเอาเป็นเอาตายของพรรคการเมือง" ว่า นายอมรคงไม่เข้าใจคำว่า "การเมืองในระบอบประชาธิปไตย" ก็เลยเหมารวมเอาว่า การแย่งชิงอำนาจกันอย่างเอาเป็นเอาตายของพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารปฏิวัติ ความจริงนายอมรก็ศึกษาการเมืองไทยมานาน ย่อมรู้ดีว่าการแย่งชิงอำนาจกันในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งอาจจะดูดุเดือดตื่นเต้น แต่ไม่ใช่ "เอาเป็นเอาตาย" แน่ การแย่งชิงอำนาจที่เข้าลักษณะ "เอาเป็นเอาตาย" คือ การแย่งชิงอำนาจโดยการปฏิวัตินั่นแหละ "เอาเป็นเอาตาย" จริงๆ เพราะถ้าปฏิวัติไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ ถ้าปฏิวัติสำเร็จก็เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" สาเหตุที่ต้องเอาเป็นเอาตายก็เพราะเดิมพันมันสูง และการที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาถูกฉีกทิ้ง โดยรัฐประหารก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ออกแบบการเมืองที่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย แต่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับคณะรัฐประหารต่างหาก นายอมรอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้ว่า ในจำนวน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ที่ยกร่างจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการหรือคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ฉบับนั้น ทุกฉบับถูกยกเลิกไปโดยผลของการรัฐประหารทั้งสิ้น และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายอมรเป็นโฆษกอยู่นั้น ถ้าหากผ่านการออกเสียงประชามติและประกาศใช้เกิดถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหาร นายอมรจะยอมรับไหมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะถ้าอย่างนั้นก็ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่ออกแบบการเมืองที่เหมาะสมกับประเทศไทยกระนั้นหรือ
นายคณิน กล่าวต่อว่า ที่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาโต้ตอบในครั้งนี้ก็เพราะในฐานะที่เป็น ส.ส.ร. ปี 40 และคลุกคลีกับเรื่องของรัฐธรรมนูญไทยมายาวนาน ทั้งในฐานะที่เป็นข้าราชการรัฐสภา เป็น ส.ส. เป็น ส.ส.ร. และเป็นนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญ สามารถยืนยันได้ว่า การที่รัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับที่ผ่านมาถูกฉีกทิ้งไปโดยการรัฐประหารนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญออกแบบการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ก็คงคิดแบบเดียวกับ กรธ. ชุดนี้แหละ ถึงได้ออกแบบการเมืองให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี รวมเป็น 12 ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารในปีรุ่งขึ้นหลังจากประกาศใช้ได้เพียงปีเดียว ตกมาในยุค กรธ. ชุดนี้ก็ดูท่าว่า จะออกแบบการเมืองหรือที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์” เป็นเวลา 20 ปี ได้ยินแล้วก็เหนื่อยแทน ก็มีอย่างที่ไหน โลกสมัยนี้เปลี่ยนเร็วจนแทบจะเรียกว่า ทุกวันทุกชั่วโมง แต่นี่กลับจะจับประเทศอยู่เฉยๆ ไป 20 ปี มันจะเป็นไปได้อย่างไร? วิธีง่ายๆ ที่จะดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนเหมาะสมกับประเทศไทยก็คือ ไปดูที่ผลการออกเสียงประชามตินั่นแหละ และก็ไม่ต้องไปคิดค้นหาวิธีที่มันแปลกพิสดารอะไรนักหรอก เอาง่ายๆ อย่างที่คนไทยเคยชินกันมาตลอดนั่นแหละเหมาะสมกับประเทศไทย ที่สำคัญคือ "อย่าคิดแทนประชาชน" เพราะประชาชนเขาคิดเป็น
http://www.thairath.co.th
0 comments:
Post a Comment